วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 37 (ปี 2559) | รักตกขอบ



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 37 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า รักตกขอบ”  เขียนโดย คำ ผกา” หรือ “ฮิมิโตะ ณ เกียวโต”    ในหนังสือเล่มนี้เธอได้เล่าถึงประสบการณ์ด้านความรักของพรรคพวกเพื่อนฝูงเธอที่ได้ประสบพบเจอในฐานะเป็นศิราณีและผู้ฟังที่ดี    ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนสะท้อนถึงแง่มุมของความรักในแบบต่างๆ ได้อย่างหลากรส หลายอารมณ์  ยิ่งถูกนำมาปรุงให้แซ่บด้วยฝีมือการเขียนของ “คำ ผกา” แล้ว ยิ่งทำให้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 36 (ปี 2559) | ลับลวงพราง ปฏิวัติปราสาททราย



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 36 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ลับ ลวง พราง ปฏิวัติ ปราสาททราย”  เขียนโดย วาสนา  นาน่วม”   ซึ่งได้เล่า เบื้องลึกเบื้องหลัง ของการปฏิวัติโค่นล้ม รัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แบบละเอียดยิบ โดยโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร และการเตรียมการวางแผนอย่างแยบยลและปิดเป็นความลับ แบบสุดๆ  ของ หัวหน้า คมช.  อย่าง พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน  จนทำให้  ทักษิณ ชินวัตร โดนยึดอำนาจกลางอากาศ ขณะบินไปประชุมที่ UN.

ความสนุกสนานและตื่นเต้นน่าติดตาม แบบอ่านแล้ววางไม่ลง ของหนังสือเล่มนี้ อยู่ที่การลำดับเหตุการณ์ทั้งช่วงก่อนรัฐประหาร และในคืนวันที่ลงมือปฏิบัติการ   ซึ่งมีการหักเหลี่ยมชิงไหวชิงพริบกันอย่างเต็มที่ในเกมแห่งการยึดอำนาจครั้งนี้  รวมทั้งมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย   ท้ายสุดหนังสือจบด้วย การกลับมามีอำนาจอีกครั้งผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาลที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้คอนโทรลอยู่เบื้องหลัง และภาวะหนาวๆ ร้อนๆ ของเหล่าบรรดากลุ่มนายทหารที่ยึดอำนาจ ที่เกรงว่าจะโดนรัฐบาลใหม่เช็คบิลหรือไม่   

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 35 (ปี 2559) | อยู่กับฮิตเลอร์จนชั่วโมงสุดท้าย


หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 35 ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “อยู่กับฮิตเลอร์จนชั่วโมงสุดท้าย”  เขียนโดย “เทราเดล  ยุงเงอ”  แปลโดย  “อาจารย์ อำภา โอตระกูล”    หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน และสไตล์การทำงานของฮิตเลอร์  โดยหนึ่งในทีมเลขาส่วนตัวของเขา ผู้ซึ่งได้ใช้ชีวิตอยู่กับฮิตเลอร์ จนถึงชั่วโมงสุดท้าย ก่อนที่เขาจะตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตขอฮิตเลอร์ในอีกแง่มุมหนึ่งจากปากเลขาของเขา ไม่ว่าจะความอ่อนโยนที่เขาแสดงออกต่อคนรักและสุนัขของเขา หรือวิธีการที่เขาผูกใจผู้ร่วมงาน  นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เล่าถึงช่วงเวลาที่อ่อนแอ และเวลาที่เขาแข็งกร้าว ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราเข้าใจแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับประวัติของฮิตเลอร์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 34 (ปี 2559) | ประชาธิปไตย ๒๕๓๕


หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 34 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ประชาธิปไตย ๒๕๓๕  เขียนโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ  วะสี”  ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมบทความต่างๆ ที่หมอประเวศ เขียนไว้ในช่วงปี 2534-2535 เกี่ยวกับประชาธิปไตยและข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งก่อนเกิดเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535และหลังจากเหตุการณ์นั้นได้จบลง

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 32 (ปี 2559) l สายธารประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย


หนังสือน่าอ่านเล่มที่ 32 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “สายธารประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย”  เขียนโดย    “ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ“   หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย ตั้งแต่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปจนถึงการรัฐประหารโค่นรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร โดย คมช.ในปี 2549  โดยจัดเรียงแต่ละเรื่องตามลำดับเวลา และที่มาที่ไปของแต่ละเหตุการณ์  ทำให้เห็นไทม์ไลน์ของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ว่ามีอะไรเกิดที่ไหน เมื่อไร เพราะเหตุใด และมีใครที่เป็นตัวละครหลักๆ ในเหตุการณ์นั้นๆ

หนังสือเล่มที่ 33 (ปี 2559) | ลับ ลวง พราง ภาค ๒ : ซ่อนรูปปฏิวัติ หักเหลี่ยมโหด


หนังสือเล่มที่ 33 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ลับ ลวง พราง ภาค ๒ : ซ่อนรูปปฏิวัติ หักเหลี่ยมโหด”  เขียนโดย “วาสนา นาน่วม”    นักข่าวสายทหารที่มีความใกล้ชิดกับแหล่งข่าวมากมายในกองทัพ  โดยเธอ ได้เขียนเล่าเหตุการณ์ต่างๆ หลังจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล ทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549   รวมถึงเรื่องราว ลับ ลวง พราง กับ บทบาทของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ที่มีอิทธิพลอย่างสูงไม่ว่าจะในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช  หรือ รัฐบาลนาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์  ก็ตาม

หนังสือเล่มที่ 3 (ปี 2562) กว่าจะฝ่าข้ามความตาย

หนังสือ กว่าจะฝ่าข้ามความตาย ของ หมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ   เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวในคุกบางขวาง ซึ่งเป็นคุกสำหรับนักโทษประหาร  ...