วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 43 (ปี 2559) | จีนในกระแสโลกาภิวัตน์



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 43  ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “จีนในกระแสโลกาภิวัตน์” เขียนโดย “วรศักดิ์ มหัทธโนบล”  โดยหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบทความของ อ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่เขียนไว้ในนิตยสารต่างๆ  เกี่ยวกับการต่างประเทศของจีน ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ตามกระแสโลกาภิวัตน์  ซึ่งรวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่จีนมีกับประเทศต่างๆ ในอดีต ซึ่งส่งผลมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ การค้า  

อ.วรศักดิ์ เป็นนักเขียนที่สามารถอธิบายเรื่องราวยากๆ เกี่ยวกับเรื่องเมืองจีนและความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ  ให้ผู้อ่านเข้าใจได้โดยง่าย โดยส่วนตัวผมชื่นชอบงานเขียนของ อ.วรศักดิ์ แทบทุกเล่ม โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับจีน

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 42 (ปี 2559) | The Border คน พรมแดน รัฐชาติ



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 42 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า  “The Border คน พรมแดน รัฐชาติ”  เขียนโดย ยศ  สันตสมบัติ”  ในชุด  “ผลึกความรู้ : ชุดงานวิจัยฉบับเคี้ยวง่าย”  ซึ่งหนังสือชุดนี้ถือเป็นความพยายามของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่พยายามฝ่าแนวกำแพง ด้วยการแปรรูปงานวิจัยบนหอคอยงาช้าง ให้เป็นความรู้ฉบับประชาชนที่อ่านรู้เรื่องได้ง่ายๆ   โดยใช้การสัมภาษณ์ ผู้วิจัย (ศ.ดร. ยศ สัตสมบัติ) เหมือนให้ท่านเล่า เกี่ยวกับงานวิจัยของท่าน เรื่อง “อำนาจ พื้นที่ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์: การเมืองวัฒนธรรมของรัฐชาติในสังคมไทย “

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 41 (ปี 2559) | ตราประทับ ตราประจำตัว และเครื่องรางยุคโบราณ



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 41 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ตราประทับ ตราประจำตัว และเครื่องรางยุคโบราณ”  เขียนโดย อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ”    ซึ่งในหนังสือได้อธิบายถึงความหมายและรูปแบบของตราประทับ ตั้งแต่สมัยโบราณ และที่ค้นพบในประเทศไทยด้วย”    ซึ่งตราประทับเหล่านี้พบมากในบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองท่าหรือศูนย์กลรางกาครค้าขายในสมัยโบราณ เช่นที่ คลองท่อม กระบี่และที่เมืองนครปฐมโบราณ    สิ่งที่น่าสนใจคือ ตราประทับเหล้านี้สามารถทำให้เราเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีต รวมทั้งความเชื่อของผู้คนสมัยนั้นได้อีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 40 (ปี 2559) | โบกมือลา โลกาภิวัตน์



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 40 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “โบกมือลา โลกาภิวัตน์” เขียนโดย “อนุช อาภาริรม และคณะ”  โดยหนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลสรุปเหตุการณ์และแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระแสโลภาภิวัตน์ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยของเรา แม้ว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2543  แต่ก็ไม่ได้ตกยุคหรือล้าสมัย เพราะในอีกด้านหนึ่งกลับช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 39 (ปี 2559) | ประชาสังคม


หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 39 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ประชาสังคม” เขียนโดย ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงความเป็นมาของ “ประชาสังคม” ในมุมมองของนักคิดตะวันตก   จะว่าไปแล้ว ประชาสังคมนั้นอยู่คู่กับสังคมโลกเรามาตั้งแต่อดีตกาล แต่ด้วยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้ประชาสังคมได้ถูกลดบทบาทลง  อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองว่า ประชาสังคมถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของประเทศ อันประกอบ ไปด้วย รัฐบาล  องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน และ “ประชาสังคม”

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 38 (ปี 2559) | รัฐ-ชาติ กับ (ความไร้) ระเบียบโลกชุดใหม่



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 38 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า รัฐ-ชาติ กับ (ความไร้) ระเบียบ โลกชุดใหม่”  เขียนโดย ดร.ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬาร”   หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ขององค์กรต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวแสดงนอกภาครัฐ เช่น NGO และ เครือข่าย แนวร่วมต่างๆ ที่กำลังทวีบทบาทมากขึ้น ในการกำหนดนโยบายสาธารณะของแต่ละรัฐ  นอกจากนั้นยังทำให้พรมแดนระหว่างรัฐ หรือ ข้อกำหนดความเป็นรัฐ-ชาติ ที่เคยมีมานานกว่า 3 ศตวรรษ ได้เลือนหายหรือลดน้อยลงไป  ส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้โลกใบนี้มีความกระชับและใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น  ดังนั้นการเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น ก็กลับกลายเป็นความเคลื่อนไหวและส่งผลกระทบในระดับโลกได้ไม่ยากนักในยุคนี้

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 37 (ปี 2559) | รักตกขอบ



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 37 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า รักตกขอบ”  เขียนโดย คำ ผกา” หรือ “ฮิมิโตะ ณ เกียวโต”    ในหนังสือเล่มนี้เธอได้เล่าถึงประสบการณ์ด้านความรักของพรรคพวกเพื่อนฝูงเธอที่ได้ประสบพบเจอในฐานะเป็นศิราณีและผู้ฟังที่ดี    ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนสะท้อนถึงแง่มุมของความรักในแบบต่างๆ ได้อย่างหลากรส หลายอารมณ์  ยิ่งถูกนำมาปรุงให้แซ่บด้วยฝีมือการเขียนของ “คำ ผกา” แล้ว ยิ่งทำให้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 36 (ปี 2559) | ลับลวงพราง ปฏิวัติปราสาททราย



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 36 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ลับ ลวง พราง ปฏิวัติ ปราสาททราย”  เขียนโดย วาสนา  นาน่วม”   ซึ่งได้เล่า เบื้องลึกเบื้องหลัง ของการปฏิวัติโค่นล้ม รัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แบบละเอียดยิบ โดยโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร และการเตรียมการวางแผนอย่างแยบยลและปิดเป็นความลับ แบบสุดๆ  ของ หัวหน้า คมช.  อย่าง พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน  จนทำให้  ทักษิณ ชินวัตร โดนยึดอำนาจกลางอากาศ ขณะบินไปประชุมที่ UN.

ความสนุกสนานและตื่นเต้นน่าติดตาม แบบอ่านแล้ววางไม่ลง ของหนังสือเล่มนี้ อยู่ที่การลำดับเหตุการณ์ทั้งช่วงก่อนรัฐประหาร และในคืนวันที่ลงมือปฏิบัติการ   ซึ่งมีการหักเหลี่ยมชิงไหวชิงพริบกันอย่างเต็มที่ในเกมแห่งการยึดอำนาจครั้งนี้  รวมทั้งมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย   ท้ายสุดหนังสือจบด้วย การกลับมามีอำนาจอีกครั้งผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาลที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้คอนโทรลอยู่เบื้องหลัง และภาวะหนาวๆ ร้อนๆ ของเหล่าบรรดากลุ่มนายทหารที่ยึดอำนาจ ที่เกรงว่าจะโดนรัฐบาลใหม่เช็คบิลหรือไม่   

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 35 (ปี 2559) | อยู่กับฮิตเลอร์จนชั่วโมงสุดท้าย


หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 35 ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “อยู่กับฮิตเลอร์จนชั่วโมงสุดท้าย”  เขียนโดย “เทราเดล  ยุงเงอ”  แปลโดย  “อาจารย์ อำภา โอตระกูล”    หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน และสไตล์การทำงานของฮิตเลอร์  โดยหนึ่งในทีมเลขาส่วนตัวของเขา ผู้ซึ่งได้ใช้ชีวิตอยู่กับฮิตเลอร์ จนถึงชั่วโมงสุดท้าย ก่อนที่เขาจะตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตขอฮิตเลอร์ในอีกแง่มุมหนึ่งจากปากเลขาของเขา ไม่ว่าจะความอ่อนโยนที่เขาแสดงออกต่อคนรักและสุนัขของเขา หรือวิธีการที่เขาผูกใจผู้ร่วมงาน  นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เล่าถึงช่วงเวลาที่อ่อนแอ และเวลาที่เขาแข็งกร้าว ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราเข้าใจแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับประวัติของฮิตเลอร์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 34 (ปี 2559) | ประชาธิปไตย ๒๕๓๕


หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 34 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ประชาธิปไตย ๒๕๓๕  เขียนโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ  วะสี”  ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมบทความต่างๆ ที่หมอประเวศ เขียนไว้ในช่วงปี 2534-2535 เกี่ยวกับประชาธิปไตยและข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งก่อนเกิดเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535และหลังจากเหตุการณ์นั้นได้จบลง

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 32 (ปี 2559) l สายธารประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย


หนังสือน่าอ่านเล่มที่ 32 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “สายธารประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย”  เขียนโดย    “ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ“   หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย ตั้งแต่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปจนถึงการรัฐประหารโค่นรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร โดย คมช.ในปี 2549  โดยจัดเรียงแต่ละเรื่องตามลำดับเวลา และที่มาที่ไปของแต่ละเหตุการณ์  ทำให้เห็นไทม์ไลน์ของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ว่ามีอะไรเกิดที่ไหน เมื่อไร เพราะเหตุใด และมีใครที่เป็นตัวละครหลักๆ ในเหตุการณ์นั้นๆ

หนังสือเล่มที่ 33 (ปี 2559) | ลับ ลวง พราง ภาค ๒ : ซ่อนรูปปฏิวัติ หักเหลี่ยมโหด


หนังสือเล่มที่ 33 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ลับ ลวง พราง ภาค ๒ : ซ่อนรูปปฏิวัติ หักเหลี่ยมโหด”  เขียนโดย “วาสนา นาน่วม”    นักข่าวสายทหารที่มีความใกล้ชิดกับแหล่งข่าวมากมายในกองทัพ  โดยเธอ ได้เขียนเล่าเหตุการณ์ต่างๆ หลังจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล ทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549   รวมถึงเรื่องราว ลับ ลวง พราง กับ บทบาทของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ที่มีอิทธิพลอย่างสูงไม่ว่าจะในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช  หรือ รัฐบาลนาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์  ก็ตาม

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 31 (ปี 2559) | วิถีเล่าปี่ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 31 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า วิถีเล่าปี่ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน”   เขียนโดย “เปี่ยมศักดิ์  คุณากรประทีป”   เนื้อหาหลักๆ ในหนังสือเป็นการเล่าถึงสไตล์การบริหารคนของ “เล่าปี่” โดยหยิบเอาเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในหนังสือ “สามก๊ก”   ขึ้นมาวิเคราะห์ให้เห็นตัวตนและ วิธีการผูกใจคนของ “เล่าปี่”   

จะว่าไปแล้ว  หากมองด้านความสามารถในการรบ หรือ สติปัญญาในการวางแผน รวมทั้ง อำนาจบารมีแต่เดิม ของ “เล่าปี่” นั้น เหมือนว่าจะด้อยกว่าผู้นำก๊กอื่นๆ    แต่ความสามารถในการผูกใจคนของเขานี้ กลับจนกลายเป็นกุญแจที่ทำให้ “เล่าปี่” ขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความสำเร็จได้  

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 30 (ปี 2559) | แย็บบ่อยๆ สอยด้วยฮุคขวา เคล็ดลับโซเชียลมีเดีย



หนังสือเล่มที่ 30 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า แย็บบ่อยๆ สอยด้วยฮุคขวา เคล็ดลับโซเชียลมีเดีย” เขียนโดย “แกรี เวย์เนอร์ซัค”  แปลโดย “ณงลักษณ์ จารุวัฒน์”    ตัวของ “แกรี” นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าในธุรกิจการเล่าเรื่องและเป็นนักเขียนหนังสือที่ขายดีที่สุดจากการจัดอันดับของ The New Yeork Times รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทชั้นนำระดับ Fortune 500 อีกด้วย  โดยในหนังสือเล่มนี้เขาได้เล่าถึงหลักการในการทำการตลาดและการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Media ไว้ได้อย่างน่าสนใจ  เป็นการพูดถึงการนำเนื้อหา (Content) สู่ผู้อ่านหรือผู้ชม แบบแย็บไปเรื่อยๆ คือปล่อยเนื้อหาย่อยๆ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเมื่อโอกาสมาถึงจังหวะดีๆ ก็ปล่อยเนื้อหาที่เป็นหมัดฮุค (เพื่อปิดการขาย)

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 29 (ปี 2559) | ชีวิตรักฮิตเลอร์



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 29  ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ”ชีวิตรักของฮิตเลอร์”  เรียบเรียงโดย ”องอาจ นิมิตกุล”   ในเล่มเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของ จอมเผด็จการฮิตเลอร์ ที่ไม่ค่อยมีใครได้พูดถึงกันเท่าไร  มีทั้งหวานซึ้งและขมขื่น  ตลอดจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ที่เขาตัดสินใจปลิดชีพไปพร้อมกับคนรักคนสุดท้ายของเขา

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 28 (ปี 2559) | ๓ ทศวรรษ พระไพศาล วิสาโล



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 28  ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ”๓ ทศวรรษ พระไพศาล วิสาโล”  จัดทำขึ้นโดย “ชมรมกัลยาณธรรม” เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิตในวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการบวชของพระไพศาล วิสาโล หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย รูปภาพ (หลายรูปเป็นรูปที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน) และประวัติการเรียน การทำงานของท่าน ตั้งแต่ครั้งยังเป็น ฆราวาส  ตั้งแต่สมัยเด็ก  สมัยวัยรุ่น จนถึงบวชเป็นพระ   นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ท่านทำสมัยที่เริ่มบวช จนถึงปัจจุบัน  และที่พิเศษกว่านั้นคือในหนังสือเล่มนี้ยังคัดสรรข้อเขียนบางส่วนของท่านมาให้เราได้อ่านด้วย

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 27 (ปี 2559) | อนิจลักษณะของสังคมไทย




หนังสือเล่มที่ 27 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “อนิจลักษณะของสังคมไทย”  เขียนโดย “รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์”  ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมงานเขียนของอาจารย์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ในระหว่างปี 2536 – 2540  โดยหนังสือแบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ  ภาคที่หนึ่ง : สังคมเศรษฐกิจไทย   ภาคที่สอง: วัฒนธรรมกับสังคมไทย  ภาคที่สาม: การเมืองกับสังคมไทย  และ ภาคที่สี่: บุคคล     โดยทุกเรื่องที่อาจารย์เขียน ในเล่มนี้ล้วนแล้วแต่อ่านสนุก น่าติดตาม  รวมทั้งสะท้อนมุมมอง ความคิดของอาจารย์ในเรื่องต่างๆ ไว้ได้อย่างเฉียบคม  ทำให้เราเข้าใจสังคมไทยและการเมืองไทยในด้านต่างๆ ระหว่างช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 26 (ปี 2559) | สวยด้วยใจ



หนังสือเล่มที่ 26 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า สวยด้วยใจ  เขียนโดย “นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์”  ซึ่งเป็นแพทย์ทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง  แต่สิ่งที่คุณหมอได้เขียนในหนังสือเล่มนี้ กลับสร้างมุมมองใหม่ให้กับโลกแห่งศัลยกรรมตกแต่ง คือไม่ได้เน้นที่ความงามทางกายหรือภายนอกมากจนเกินไป แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงามภายในจิตใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลให้ได้ดีกว่างามแต่เพียงภายนอกอย่างเดียว   หนังสือยังได้ยกตัวอย่างงานวิจัย ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของคุณหมอกับคนไข้ ในแง่มุมของความงามภายนอกและความงามภายใน  ทำให้เราได้พบกับมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการเสริมความงามอย่างไรให้สมดุล ทั้งกายและใจ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 24 (2559) | กว่าจะได้นังบัลลังก์ศาล



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 24  ที่ผมอ่านจบ ในปีนี้ ชื่อว่า ”กว่าจะได้นั่ง บัลลังก์ศาล”  เขียนโดย “ณัฐปกรณ์ พิชญ์ปัญญาธรรม”  ผมได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกจากอาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้หาซื้อมาอ่าน  จนเมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็นหนังสือเล่มนี้โพสต์ขายอยู่ในเว็บขายหนังสือแห่งหนึง  จึงได้รีบสั่งซื้อมาอ่านในทันที   

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นการบอกเล่าประวัติของผู้เขียนเอง ตั้งแต่เกิดจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน  โดยผู้เขียนได้ตีแผ่ชีวิตของตัวเองอย่างละเอียด ตั้งแต่ภูมิหลังที่มีแม่พิการเป็นใบ้ และจำเป็นต้องแยกทางกับพ่อ เพราะยายกีดกัน  โดยตัวเขาต้องอยู่กับยาย เพราะแม่แยกไปต่างงานใหม่  โดยชีวิตในวัยเด็กเขานั้นมีแต่ความลำบาก  ต้องอดทนทำงานหลายอย่าง เพื่อช่วยเหลือที่บ้านและไม่ได้ศึกษาในระบบโรงเรียนเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ เพราะต้องทำงาน แต่เขาก็ยังมีความมานะอุตสาหะ  โดยสมัครเรียนภาคค่ำหรือโรงเรียนผู้ใหญ่ในสมัยนั้น จนจบชั้น ม.6 และได้เดินทางไปกรุงเทพ เพือศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยอยู่แบบลำบากต้องอดทนทำงานเพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียน ชีวิตเผชิญปัญหาและความยากลำบากสารพัด ถึงขั้นต้องนอนใต้หลังคาส้วมของมหาวิทยาลัย  จวบจนถึงวันที่เขาได้มีโอกาสช่วยเหลือเด็กๆ โดยเข้าไปทำงานในมูลนิธินกขมิ้น และ ท้ายสุดสามารถสอบเป็นผู้พิพากษาได้ 

ผมขอสารภาพว่า ในระหว่างที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมหลั่งน้ำตาไปไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง เพราะซาบซึ้งในเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของผู้เขียน และได้ข้อคิด พลังใจ อย่างมากมายจากหนังสือเล่มนี้ แม้ว่าชื่อหนังสือจะถูกตั้งราวกับว่า เป็นหนังสือเส้นทางสำหรับคนที่ร่ำเรียนมาทางด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนหนุ่มสาวทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งคนที่กำลังท้อแท้หดหู่กับชะตากรรมหรือชาติกำเนิด อันยากจนต่ำต้อยของตัวเอง ผมอยากให้ท่านได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ ท่านจะมีพลังฮึดสู้และรู้ว่าชีวิตนี้ยังมีคนที่ลำบากและขาดโอกาสยิ่งกว่าท่านอีก  แต่เขายังตั้งใจศึกษา และอดทนต่อสู้ ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จได้    “กว่าจะได้นั่งบัลลังก์ศาล” ถือเป็นหนังสือที่ดีมากๆ อีกเล่ม และอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่านครับ


  

(หนังสือหนา 226 หน้า ราคาปก 120 บาท  พิมพ์ครั้งแรก   ธันวาคม 2002 )

หนังสือเล่มที่ 25 (ปี 2559) | ทำอย่างไรให้เขายอม



หนังสือเล่มที่ 25 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ทำอย่างไรให้เขายอม”  เขียนโดย “รศ.ดร. สิทธิโชค วรานุสันติกูล”  หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงกลยุทธ์พื้นฐานในการทำให้เกิดการยอมทำตามของมนุษย์ในแง่มุมทางด้านจิตวิทยา  รวมทั้งหลักการสร้างอำนาจ อิทธิพล และบารมี  เพื่อให้ผู้อื่นยอมทำตามความประสงค์ของเรา   นอกจากนี้ยังได้อธิบายเรื่องทฤษฏีแรงจูงใจ รวมทั้งแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรและอิทธิพลที่มีต่อมนุษย์ในองค์กรนั้นๆ ด้วย

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ  อ่านง่าย อ่านสนุก ไม่มีความรู้สึกเหมือนอ่านตำราวิชาการ และในเล่มก็เต็มไปด้วยตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมา เพื่อทำให้เราเข้าเรื่องราวและทฤษฏีต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี   แม้ว่าเราจะอยู่ในฐานะผู้บริหารองค์กร หรือจะเป็นเพียงแค่พนักงานหรือผู้ร่วมงานก็ตาม ถือเป็นหนังสือที่เขียนโดย นักวิชาการผู้มีความเชียวชาญและประสบการณ์มาก  แต่เนื้อหากลับอ่านได้สนุกและเข้าใจได้ง่ายมากๆ    เป็นหนังสือที่เหมาะมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่สนใจเรื่องเทคนิคการบริหารงานบุคคลและการจูงใจในการทำงานครับ



(หนังสือหนา 216  หน้า ราคาปก 170 บาท  พิมพ์ครั้งแรก  2547 ซีเอ็ดยูเคชั่น)

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 23 (ปี 2559) | ยุคใหม่กาแฟดอยช้าง



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 23  ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ”ยุคใหม่ กาแฟดอยช้าง”  เรียบเรียงโดย  “องอาจ ฤทธิ์ปรีชา”   หนังสือเล่มนี้บอกเล่าความเป็นมาของกาแฟดอยช้าง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับโลกอย่างเช่นทุกวันนี้     

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่บทสัมภาษณ์แบบเปิดใจ ของผู้บริหารคนใหม่ที่ขึ้นมากุมบังเหียนขององค์กร ภายหลังจากผู้ก่อตั้งคนสำคัญอย่าง “วิชา พรหมยงค์” ได้เสียชีวิตลงไปเมื่อต้นปี 2557     ชายผู้ซึ่งเคยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ก่อตั้งในฐานะคนที่อยู่เบื้องหลัง   เมื่อวันที่เขาต้องออกมายืนอยู่เบื้องหน้า จึงทำให้เราได้ทราบถึงเบื้องลึกที่น่าสนใจหลายประการเกี่ยวกับกาแฟดอยช้าง รวมถึงข้อเท็จจริงต่างๆ  เกี่ยวกับกระแสข่าวลือเรื่องทุนใหญ่ที่เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการแห่งนี้

หนังสือเล่มนี้ อ่านง่าย อ่านสนุก โดยเฉพาะคนที่มีความสนใจใน แวดวงกาแฟ และการบริหารจัดการแบบกาแฟดอยช้าง หรือ  Beyond Fair Trade  ผมแนะนำว่าไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างยิ่งครับ


(หนังสือหนา 176 หน้า ราคาปก 200 บาท  พิมพ์ครั้งที่แรก   เมษายน 2559 )


วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 22 (ปี 2559) | เต๋าแห่งประชาธิปไตย



หนังสือเล่มที่ 22 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า เต๋าแห่งประชาธิปไตย”  โดย “เสกสรรค์  ประเสริฐกุล”  หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทสัมภาษณ์ของอาจารย์เสกสรรค์ ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2555    ทั้งหมด 7 เรื่อง  โดยสะท้อนมุมมองและความคิดของอาจารย์ในฐานะเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เกี่ยวกับ โครงสร้างทางการเมือง และอำนาจในสังคมไทย โดยไม่เน้นเรื่องสีเสื้อ แต่วิเคราะห์เจาะลึกถึงความเป็นมาเป็นไป รวมทั้งวิธีการในการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย  

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 21 (ปี 2559) | วิสาหกิจชุมชน กลไกลเศรษฐกิจฐานราก



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 21 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชน กลไกเศรษฐกิจฐานราก” โดย “ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” และ “พิทยา ว่องกุล”  เป็นบรรณาธิการ โดยเป็นหนังสือที่รวบรวมบทความ 10 เรื่องที่เป็นกรณีศึกษาของ “วิสาหกิจชุมชน” ในจังหวัดต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว รวมทั้งเล่าให้ฟังถึง ปัจจัยหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้ วิสาหกิจชุมชน แต่ละแห่งประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง  นอกจากนี้ในภาคผนวกยังมี พระราชบัญญัติ ส่งเสริมวิสาหกิจ ชุมชน พ.ศ.2548 แนบมาให้อ่านด้วย

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 20 (ปี 2559) | ตำราคนไม่อยากแก่


หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 20  ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า ”ตำรา คนไม่อยากแก่” เขียนโดย  “ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย”  ซึ่งเป็นแพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคไต และอายุรศาสตร์ชะลอวัย หนังสือเล่มนี้เล่าถึง ทฤษฏีความชรา และสิ่งที่ใช้ชีวัดความชรา  รวมถึงเล่าให้ฟังถึงโรคต่างๆ ที่เป็นโรคเรื้อรังในผู้สูงวัย  พร้อมบอกวิธีป้องกัน ว่าเราควรจะกินอยู่อย่างไรให้ห่างไกลจากโรคเรื้อรังต่างๆ เหล่านี้

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 19 (ปี 2559) | อายุแท้ ไม่ใช่ตัวเลข




หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 19  ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “อายุแท้ ไม่ใช่ตัวเลข“ เขียนโดย  “ศ.นพ.เฉลียว ปิยะชน ”  หนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึง มีปัจจัยต่างๆ  ที่ทำให้คนเราเกิดความชรา  และ สิ่งที่ใช้วัดความชราของคน ตัวอย่างเช่น  คุณภาพหลอดเลือด หรือ การเสื่อมสภาพของสมองและระบบประสาท เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้เชื่อว่า อายุที่เป็นตัวเลขปี ไม่ใช่เครื่องวัดความเยาว์วัยหรือความชราในมนุษย์ แต่สิ่งที่ใช้วัดความชราคือ ประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้นคนที่มีอายุน้อย อาจจะเป็นคนชรา และคนชราอาจจะเป็นผู้ที่เยาว์วัยกว่าอายุจริงก็ได้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายแต่ละคน

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 18 (ปี 2559) | อเมริกา อเมริกา อเมริกา



หนังสือเล่มที่ 18 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า อเมริกา อเมริกา อเมริกาหรือ “What Uncle Sam Really Wants เขียนโดย  “Noam Chomsky”  แปลเป็นภาษาไทยโดย “ภัควดี วีระภาสพงษ์”   เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คือการวิพากษ์และวิเคราะห์ถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง แนวคิดด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยและอินโดจีนด้วย หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า อเมริกาชูเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องยาเสพติด รวมทั้งเรื่องก่อการร้าย เพื่อเป็นเพียงข้ออ้างในการบีบบังคับประเทศอื่นๆ ให้ดำเนินตามนโยบายที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐและประเทศพรรคพวกของตน

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 17 (ปี 2559) | เส้นทางนักประพันธ์

  

หนังสือเล่มที่ 17 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “เส้นทางนักประพันธ์“ เขียนโดย  “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”  หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อเขียนของอาจารย์เสกสรร จากที่ต่างๆ  ซึ่งเนื้อหาในเล่มเป็นการเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาและเกร็ดชีวิตของนักเขียนระดับโลก รวมทั้งผลงานชิ้นเด่นๆ ของพวกเขา  ไม่ว่าจะเป็น “ดอสโตเยฟสกี้” “จอห์น สไตน์เบ็ค”  “เออร์เนสท์ เฮมิงเวย์”   “อันโตน เชคอฟ”  และคนอื่นๆ  ในเล่มยังมีบทสัมภาษณ์อาจารย์เสกสรรค์ เกี่ยวกับวิธีการเขียนหนังสือ และ มุมมองของเขา ที่มีต่อวงการหนังสือของไทยอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 16 (ปี 2559) : CEO กับความรัก



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 16 ที่ผมอ่านจบในปี 2559 ชื่อว่า  “ CEO กับความรัก “   โดย “ก่อศักดิ์  ไชยรัศมีศักดิ์” ซึ่งเป็นการรวบรวมบทความที่คุณก่อศักดิ์ ในฐานะ CEO ของ  7-11 ได้เขียนไว้ในวารสาร เพชร ซึ่งเป็นวารสารภายในของ บมจ. ซีพี ออล  แต่ละบทความในเล่ม ล้วนมีประโยชน์ ให้แง่คิดในการบริหารงาน เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติซึ่งเราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานของเราได้

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 15 (ปี 2559) : คน (ไม่) สำคัญ



หนังสือเล่มที่ 15 ที่ผมอ่านจบในปีนี้ ชื่อว่า “ คน (ไม่) สำคัญ “  โดย  “สฤณี อาชวานันทกุล”    ซึ่งรวบรวมเรื่องราวของ 11  คน ไม่สำคัญ แต่กลับสร้างปรากฏการณ์สำคัญระดับโลก  โดยมีตั้งแต่คนที่คิดค้นหลอดดีบุกที่ไว้บรรจุสีน้ำมัน ไปจนถึงบุคคลแรกที่คิดค้นบะหมี่สำเร็จรูปที่เราๆ ท่านๆ ชอบกินกัน  บุคคลเหล่านี้โลกอาจจะไม่รู้จักหรือลืมเขาไปแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเรื่องราว เกร็ดชีวิต รวมถึงสิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบ ไว้ให้เราได้รู้ โดยนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 14 (ปี 2559) : โปรดอ่านใต้แสงเทียนเพราะผมเขียนใต้แสงดาว



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 14 ที่ผมอ่านจบในปี 2559 นี้ ชื่อว่า “ โปรดอ่านใต้แสงเทียน เพราะผมเขียนใต้แสงดาว ”  ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมงานเขียนของ “ทรงกลด บางยี่ขัน”  นักเขียนที่มีความละเมียดละไม ในตัวอักษรเป็นอย่างยิ่ง  งานเขียนชุดนี้ของเขาเป็นการรวบรวมบทความสั้นๆ จบในตอนเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่เขาได้ไปเยือน รวมทั้งแง่คิดการใช้ชีวิต ผ่านจากประสบการณ์การท่องเที่ยวนั้น 

หนังสือเล่มที่ 13 (ปี 2559) : พุทธโคดม


หนังสือเล่มที่  13 ที่ผมอ่านจบในปี 2559 นี้ มีชื่อว่า พุทธโคดม”  เขียนโดย “อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล” หนังสือได้นำเสนอมุมมองพุทธประวัติในเชิงรัฐศาสตร์ ในบริบททางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมของอินเดียในสมัยพุทธกาล ทำให้เราได้เห็นภาพเหตุการณ์อีกด้านของประวัติศาสตร์ ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวช   และช่วงออกบวช  ช่วงที่ตรัสรู้  ช่วงประกาศศาสนา ไปจนถึงช่วงหลังปรินิพพานแล้ว 

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 12 (ปี 2559) : MOSTLY CLOUDY มีเมฆเป็นส่วนมาก



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 12 ที่ผมอ่านจบในปี 2559 นี้ ชื่อว่า “ Mostly Cloudy มีเมฆเป็นส่วนมาก ”  ผลงานของ  “แชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล” (@tpagon) เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อเขียนของแชมป์จากที่ต่างๆ ในช่วงปี 2557-2558 มาไว้ในเล่มเดียวกัน  ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการนำประเด็นต่างๆ จากสารพัดสื่อทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านไอที และสื่อสังคมออนไลน์ มาเล่าให้ฟัง และสะท้อนมุมมองของเขาต่อประเด็นนั้นๆ ได้อย่างน่าสนใจและชวนให้คนอ่านอดคิดตามไปด้วยไม่ได้

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 11 (ปี 2559) : สื่อออนไลน์ Born to be Democracy




หนังสือเล่มที่ 11 ที่ผมอ่านจบในปี 2559 นี้ ชื่อว่า “สื่อออนไลน์ Born to be Democracy”  โดย  “มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน”   เป็นหนังสือที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ของบุคคล 12 ท่าน ที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการ สื่อมวลชนกระแสหลัก นักกิจกรรมสื่อ บล็อกเกอร์ และนักกิจกรรมทางการเมือง ที่มาแบ่งปันมุมมอง ในฐานะที่เป็น ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และผู้เฝ้าติดตามความเป็นมาเป็นไปของสื่อใหม่ในสังคมการเมืองของไทย

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มที่ 10 (ปี 2559) : การเมืองไทย พัฒนาการ ปัญหาและแนวทางแก้ไข



หนังสือเล่มที่ 10 ที่ผมอ่านจบในปี 2559 นี้ ชื่อว่า “การเมืองไทย  พัฒนาการ ปัญหาและแนวทางแก้ไข”  เขียนโดย  “รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต”   เป็นหนังสือที่ เขียนถึงพัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครองไทย ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาจนถึงยุคที่มี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี    โดยหนังสือได้วิเคราะห์ให้เห็นจุดอ่อนทางการเมืองการปกครองของไทย การเข้ามามีอำนาจของทหาร รวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนักศึกษา  ท้ายสุดหนังสือยังได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาไว้อีกด้วย

แม้หนังสือเล่มนี้ จะตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2540 แต่เนื้อหาก็ยังสามารถนำมาเป็นแนวทางให้เราวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี   ถือเป็นหนังสือที่ดี อ่านสนุกและทำให้เราเข้าใจพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเราได้ดียิ่งขึ้น  หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้ที่สนใจด้านการเมืองการปกครอง  ผู้สนใจเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง และผู้อ่านทั่วไปที่เป็นคอการเมืองด้วย   หนังสือเล่มนี้อาจจะหาซื้อยากหน่อย  แต่ผมได้ไปนั่งอ่านฟรีที่ร้านกาแฟ The Paper ทางไปเทศบาลตำบลป่าแดด  จ.เชียงใหม่  ครับ


              

(หนังสือหนา 160 หน้า ราคาปก 90 บาท พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม  2540 เอื้ออาทรสำนักพิมพ์) 

หนังสือเล่มที่ 9 (ปี 2559) : MICROFINANCE และการเงินชุมชน



หนังสือน่าอ่าน เล่มที่  9 ที่ผมอ่านจบในปี 2559 นี้ ชื่อว่า MICROFINANCE และการเงินชุมชน” ซึ่งเนื้อหาของหนังสือมาจากการถอดความและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนของงานเสวนาวิชาการเรื่อง “องค์กรการเงินชุมชน: มองไปข้างหน้า”  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2552  โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงพัฒนาการของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในหมู่บ้านต่างๆ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว รวมถึงปัญหาของกองทุนหมู่บ้าน  หนังสือเล่มนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ซึ่งตั้งกันเองโดยชาวบ้านไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ  และเป็นกลุ่มที่ช่วยสร้างโอกาสและการพัฒนาให้กับชาวบ้านและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าทึ่งทีเดียว

มุมมองทั้งหมดที่เขียนเล่าในหนังสือเล่มนี้ เป็นของอาจารย์ 2  ท่านจากธรรมศาสตร์และทางฝั่งของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 1 ท่าน  แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ  แต่อ่านสนุกและได้รับความรู้มากมาย  ผู้ที่สนใจทางด้านเศรษฐศาสตร์  ด้านการบริหารการพัฒนา  ด้านการบริหารงานท้องถิ่น  และการบริหารงานภาครัฐ ควรที่จะหามาอ่านเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งสนุกและได้ประโยชน์ครับ


 (หนังสือหนา  80  หน้า  ราคาปก  80 บาท พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม2552 สำนักพิมพ์ openbooks)


หนังสือเล่มที่ 3 (ปี 2562) กว่าจะฝ่าข้ามความตาย

หนังสือ กว่าจะฝ่าข้ามความตาย ของ หมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ   เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวในคุกบางขวาง ซึ่งเป็นคุกสำหรับนักโทษประหาร  ...